วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สัตยาไส: องค์กรณ์แห่งความสุข

บทความนี้ได้ลงหนังสือวารสารของมหิดล เดือน ก.พ. 2554 เลยเอามาลงblong เอาไว้เสียหน่อย

“ความสุขอยู่ที่ไหน?” ลองใคร่ครวญดูสักนิดก่อนที่ท่านผู้อ่านจะตอบคำถามนี้ ในขณะเดียวกันผมขอเล่านิทานเรื่องหนึ่งที่ผมได้ยินได้ฟังมาให้ทุกท่านได้อ่านไปพลาง


“กาลครั้งหนึ่ง...ในค่ำคืนที่เงียบงัน เด็กวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งเดินมาพบคุณยายที่กำลังงกๆเงินๆมองหาอะไรสักอย่างอยู่ภายใต้แสงไฟข้างถนน “คุณยายครับกำลังหาอะไรอยู่เหรอ ให้พวกผมช่วยหาไหมครับ?” เด็กคนหนึ่งในกลุ่มเสนอตัวเข้าช่วยด้วยใจอาสา “ขอบใจมากลูก...ยายกำลังหาเข็มเย็บผ้าอยู่จ่ะ” ยายตอบสายตายิ้มๆ แล้วก้มหน้าหา เข็มเย็บผ้าต่อไป เด็กทุกคนช่วยกันอย่างขะมักเขม้น เวลาผ่านไปสักครู่ก็หาไม่พบ เด็กคนหนึ่งจึงถามคุยยายว่า” คุณยายครับคุณยายทำเข็มเย็บผ้าตกตรงบริเวณไหนครับ เพราะพวกเราจะได้หากันตรงนั้นไม่ต้องหาไปทั่วอย่างนี้”คุณยายตอบว่า “ยายนั่งเย็บผ้าอยู่ในห้องของยาย แล้วก็ทำเข็มเย็บผ้าตกในห้องของยายนั่นแหละ ที่ยายออกมาหาตรงนี้เพราะว่าตรงนี้มีแสงสว่างมาก ในห้องยายมันไม่สว่าง” เด็กพากันหัวเราะ แล้วบอกคุณยายว่า “คุณยายครับคุณยาย คุณยายทำเข็มตกในห้องของคุณยายคุณยายก็ต้องไปหาในห้องของคุณยายซิครับ หาตรงนี้ไม่เจอหรอกครับ” แล้วเด็กๆก็เดินจากคุณยายไป”

ผมได้ฟังนิทานเรื่องนี้จาก ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนสัตยาไส อาจารย์อาจองได้สรุปให้ความว่า คุณยายคนนี้ก็เหมือนกันพวกเราที่แสวงหาเป้าหมาย หรือความสุขในชีวิตอย่างผิดที่ผิดทาง พวกเราทำความสุขภายในหายไปจากหัวใจ แต่กลับไปหาความสุขจากภายนอก แล้วสิ่งที่เราเจอมันจะใช่สิ่งที่เรากำลังหาอยู่หรือไม่ ในฐานะของผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนโรงเรียนสัตยาไสจึงเป็นโรงเรียนที่มุ่งให้ผู้เรียนกลับมาค้นหาความสุขจากภายในของตันเอง แทนการออกแสวงหาความสุขจากสิ่งภายนอกตัว
ด้วยวัตถุประสงค์ในการตั้งโรงเรียน คือ “สร้างคนดีเหนือสิ่งใด” เป็นเสมือนการปลุกกระแสสังคมจากกระแสสังคมในยุคปัจจุบันที่คนดีเหลือน้อย คน...มีมาก(ท่านผู้อ่านเติมกันเอาเอง) โรงเรียนสัตยาไสจึงเป็นโรงเรียนที่มุ่งสร้างคนดีให้กับสังคมแทนที่จะเป็นการสร้างคนเก่ง เพราะคนเก่งหลายคนก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น กับเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองเสียมากกว่า โรงเรียนสัตยาไสจึงมีคำถามประจำใจเด็กๆให้คอยถามตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองจะทำนั้น “ดีต่อตัวเองหรือไม่ และ ดีต่อคนคนอื่นหรือไม่เช่นกัน”


สถานที่ตั้งของโรงเรียนนั้นอยู่ไกลออกจากเมืองใหญ่ ท่ามกลางขุนเขาอันสงบและสายน้ำไหลเย็นในอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ภายในโรงเรียนที่ไม่มีเครื่องเล่นวิจิตรพิศดารอย่างหอคอยประดิษย์ตั้งอยู่สูงตะหง่านมีม้าหมุนพลาสติกสีสวยตัวใหญ่ ชิงช้าโซ่เหล็ก แต่กลับมีต้นไม้ใหญ่ที่ใช้ปีนป่ายเหมือนหอคอยใหญ่หรือบ้านต้นไม้ของทาร์ซาน มีก้านกล้วยและทางมะพร้าวเป็นม้าอาชาไนยตัวเบ่อเร่อ มีเชือกห้อยอยู่กับกิ่งไม้ใหญ่เป็นชิงช้า พื้นที่กว้างใหญ่รายล้อมไปด้วยขุนเขา และสระน้ำกว้างใหญ่เพียงพอสำหรับจิตนาการกว้างไกลสำหรับวัยมัน ห้องเรียนที่กว้างกว่าประตูและกรอบของห้องสี่เหลี่ยมสถานที่อันเงียบสงบนี้จึงเป็นที่บ่มเพาะความรู้ ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับผู้อาศัยเพื่อให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ในการดำรงชีวิตในสังคมอย่างเป็นสุข ด้วยบรรยากาศ ของรอยยิ้มระคนความรัก ความเมตตา การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การพึ่งพาตัวเองและใช้ชีวิตบนหลักเศรษฐกิจพอเพียง ที่โรงเรียนแห่งนี้มีกิจกรรมระหว่างนักเรียน คุณครู และผู้ปกครองประจำปีที่ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นคือ การทำนา โดยใช้แรงงานผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่นักเรียนและผู้ปกครอง มีชาวนาเป็นกูรู มีกระบือหรือควายเป็นแรงงานไถ่ ในการปลูกข้าวนักเรียนได้เรียนรู้คุณค่าของอาหารที่ตนบริโภคในแต่ละมื้อ ได้เห็นคุณค่าของชาวนาผู้เป็นผู้รู้ เห็นคุณค่าของเพื่อสัตว์โลก (และรู้ว่าไม่ได้โง่อย่างที่เข้าใจ) ข้าวที่ได้กลายเป็นอาหารให้กับนักเรียนครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียน ซึ่งเกือบจะพอสำหรับทั้งปี โรงเรียนสัตยาไสนั้นบริโภคอาหารมังสวิรัติ จึงมีการปลูกพืชผักไว้บริโภคเองส่วนหนึ่ง นับเป็นการลดรายจ่ายเรื่องอาหารการกินได้เป็นอย่างดี และปลอดภัยอย่างยิ่งกับสารเคมีฆ่าแมลงที่ตกค้างอยู่ในพืชผักใบสวยที่ขายทั่วไปกันตามท้องตลาด


โรงเรียนนี้เรียนฟรี โรงเรียนสัตยาไสเป็นโรงเรียนเอกชนที่โอกาสทางการศึกษาฟรีตั้งแต่เริ่มเปิดโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2535 มีเพียงค่าใช้จ่ายส่วนของนักเรียนตัวเล็กน้อยที่ผู้ปกครองรับผิดชอบ อีกทั้งยังมีแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่ตรงกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ การจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการและการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โรงเรียนยึดหลักคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือคุคุณธรรมทั้ง ๕ ประการ ประกอบด้วย ความรักความเมตตา ความจริง ความสงบ การประพฤติชอบ และ อหิสาคือการไม่เบียดเบียน อันเป็นเสมือนคุณธรรมประจำใจ ของนักเรียนในโรงเรียนสัตยาไส เพื่อให้เป็นคนดีของสังคมสมกับปรัชญาการศึกษาของโรงเรียน


มล.ปิ่น มาลากุล กล่าวไว้ว่า “อยากรู้ว่าตัวครูเป็นฉันใด จงดูได้จากศิษย์ที่สอนมา” ครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในระหว่างที่นักเรียนใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียน ผลลัพธ์ปลายทางของการศึกษาที่สำคัญกว่าการได้เกรดดีคะแนนสูงๆ นั้นคือการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขในสังคมด้วยการไม่เบียดเบียนกันและกันจึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า ครูจึงเป็นบุคคลตัวอย่างที่ส่งผลต่อเด็กนักเรียน ท่านศรี สัตยาไส บาบา นักการศึกษาคนสำคัญของอินเดียกล่าวว่า“ครูมีสามประเภทด้วยกัน หนึ่ง ครูที่สอนความรู้ สอง ครูที่อธิบายสิ่งต่างๆ และ สาม ครูที่สร้างแรงบันดาลใจ” ครูของโรงเรียนสัตยาไสจึงเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนด้วยการกระทำที่ประกอบด้วยความรักและเมตตา การทุ่มเททั้งแรงการแรงใจในการดูแลเอาใจใส่นักเรียน ตลอด24 ชั่วโมง ด้วยเป็นโรงเรียนประจำ และมีกิจวัตรประจำวันตั้งแต่ เช้ามืดจนถึงค่ำคืน ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกความรู้ในเชิงวิชาการให้กับนักเรียนตามความสนใจ และหน้าที่สำคัญยิ่งของครูโรงเรียนสัตยาไสที่แตกต่างไปจากครูอื่นๆคือเป็นผู้ดึงคุณค่าความเป็นมนุษย์ออกมาจากตัวนักเรียน จากความเชื่อว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์หรือคุณความดีนั้นมีอยู่ประจำตัวของทุกคน ครูเป็นเพียงผู้ที่ดึงคุณธรรมเหล่านั้นออกมาจากตัวผู้เรียนให้ประกฏออกมาเป็นพฤติกรรม


“ที่โรงเรียนสัตยาไสทำสมาธิกันวันละเก้าครั้ง” เริ่มตั้งแต่ตอนเช้า และก่อนชั่วโมงเรียนในแต่ละวัน ซึ่งการทำสมาธินั้นเป็นการสร้างความสุขให้กับผู้ที่ฝึกปฏิบัติอย่างอย่างสม่ำเสมอ ผลของงานวิจัยผลว่าสมาธินั้นช่วยเพิ่มความจำให้กับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อทำสมาธิไปถึงระดับหนึ่งสารเอ็นโดรฟินในร่างกายก็จะหลั่งออกมาเมื่อมีความสุข อีกทั้งการทำสมาธินั้นเป็นหนทางหนึ่งในการเปิดขุมทรัพย์แห่งปัญญาที่แฝงฝังอยู่ให้เผยขึ้นมาบนโลก และการทำสมาธินั้นเป็นการสร้างความสุขให้กับตนเองได้อย่างแท้จริง แทนการออกค้นหาความสุขจากวัตถุสิ่งของ หรือสถานที่ต่างๆภายนอกตัว


โรงเรียนสัตยาไสจึงเป็นอีกโรงเรียนหนึ่งในหลายโรงเรียนในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนดีให้กับสังคมไทย ด้วยการความสุขที่แท้จริงภายในจิตใจของมนุษย์ในช่วงที่เป็นหน่อออ่อนของต้นไม้ใหญ่ในอนาคต ด้วยการดูแลเอาใจใส่ดูแลหน่ออ่อนเหล่าดูด้วยความรักความเมมตา รดน้ำพรวนดินให้ความดีงามภายในจิตใจของนักเรียนได้งอกงามและเพื่อแผ่ร่มเงาให้กับพื้นที่และผู้คนในสังคม ท่านผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ ลองสำรวจรอบตัวท่านดูว่า สถานที่ท่านอยู่ ข้าวของมากมายรอบๆตัว บุคคลรอบข้างตัวท่านได้ เป็นสิ่งที่สร้างความสุขให้กับท่านอย่างแท้จริงหรือไม่ ความสุขที่แท้ของท่านคืออะไร และอะไรเป็นเหตุให้เกิดความสุขนั้น

เกี่ยวกับฉัน

ในที่แห่งนี้เป็นที่ถ้อยแถลงในหัวใจเรา